สิทธิมนุษยชนกับสังคมไทย
กระแสแห่งโลกยุคปัจจุบัน เป็นกระแสของโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจทุนนิยม ยุคแห่งข้อมูลข่าวสารและความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งจำเป็นสำหรับพื้นฐานของประชาธิปไตยที่เป็นกระแสการวิพากษ์และการศึกษาทั่วโลกที่สำคัญประเด็นหนึ่งก็คือ กระแสเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ในงานเขียนชิ้นนี้จึงมุ่งไปที่จะศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน ในการที่จะเป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพ วิถีชีวิตของปัจเจกชนจนนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ดังจะกล่าวต่อไปนี้
1.ความหมายของสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษาศาสนา และสถานภาพทางกายและสุขภาพรวมทั้งความเชื่อทางการเมือง หรือความเชื่ออื่นๆที่ขึ้นกับพื้นฐานทางสังคม สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดหรือโอนให้แก่ผู้อื่นได้ (ชะวัชชัย ภาติณธุ, 2548:29)
2. ความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญในฐานะที่เป็นอารยะธรรมโลก (World Civilzation) ของมนุษย์ที่พยายามวางระบบความคิดเพื่อให้คนทั่วโลกเกิดความระลึกรู้ คำนึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ยอมรับความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี ชาติกำเนิด สิทธิต่างๆที่มีพื้นฐานมาจากความชอบธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสิทธิตั้งแต่กำเนิด โดยให้ความสำคัญกับคำว่าชีวิต (Life) (ชะวัชชัย ภาติณธุ,2548:3) นอกจากนี้แล้วสิทธิมนุษยชนยังมีความสำคัญในแง่ของการเป็นหลักประกันของความเป็นมนุษย์สิทธิและ เสรีภาพ และสภาวะโลกปัจจุบันเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็ไม่ใช่เรื่องประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่สังคมทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ เพราะประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ผูกพันตามพันธกรณีแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และที่สำคัญเรื่องของสิทธิมนุษยชนยังได้ถูกนำไปใช้ในทางการเมือง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าทำให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปคว่ำบาตรทางการฑูต การงดการทำการค้าด้วย หรือกรณีการส่งกองกำลังทหารของสหประชาชาติเพื่อเข้าไปยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในบอสเนีย เฮอร์เซโกวิน่า และในโคโซโว ของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย เป็นต้น (กุมพล พลวัน, 2547:2-3) ด้วยสาเหตุและความสำคัญดังกล่าวมาข้างต้น เราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมีความสำคัญทั้งในด้านสังคมโลกและการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย
3.พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
พัฒนาการการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์/สิทธิมนุษยชนในสังคมนั้นมีมายาวนาน สถานการณ์สำคัญของสังคมไทยที่ถือว่าเป็นมิติการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ตั้งแต่ในยุคเริ่มเปิดประเทศภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง,เหตุการณ์ร.ศ.103 ที่ชนชั้นสูงบางกลุ่มเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุการณ์ร.ศ. 130ที่คณะทหารหนุ่มก่อการกบฏเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การปฎิวัติ 2475 ที่ปรากฏพร้อมหลัก 6 ประการของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกล่าวถึงหลักสิทธิเสมอภาคและความเป็นอิสรเสรีภาพ,การต่อสู้ในยุคเผด็จการทหารนับหลังจากรัฐประหาร 2490 จนถึงยุคของระบบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ นับตั้งแต่ปี 2501 เรื่อยมา (จรัญ โฆษณานันท์, 2545:519) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ไทยจะให้การรับรองปฎิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2491 แต่แนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบอุดมการณ์เสรีนิยมตะวันตกก็เติบโตอย่างเชื่องช้าในสังคมไทย ท่ามกลางบริบททางการเมืองที่ล้าหลังเป็นเผด็จการ แม้จะมีการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างเข้มข้น เช่นในช่วง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังเหตุการณ์ 6ตุลาคม 2519ซึ่งต่อมาเรื่องของมนุษยชนเป็นปรากฏการณ์ความสนใจและมีการถกเถียงกันอย่างมาก จนกระทั่งมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อศึกษากฎหมายหรือร่าง พ.ร.บ.ที่แย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อสิทธิมนุษยชน ทั้งปัญหาภายในและภายนอกประเทศ ในสมัยของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ แต่ก็ล้มเหลวเพราะความไม่ต่อเนื่องของอายุของสภาผู้แทนราษฎร และความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการทำงาน รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและแม้ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงครั้งสำคัญของไทย ซึ่งชัยชนะของประชาชนมีผลผลักดันสร้างสำนึกสิทธิมนุษยชนที่จริงจังในสังคมไทย และการสร้างกลไกต่างๆเพื่อป้องกันอำนาจเผด็จการทางทหาร และรัฐบาลของนายอานันท์ ปัณยารชุนได้บริหารประเทศได้นำประเทศเข้าสู่สมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง จนถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับบปี 2540 ที่ดูจะเป็นความหวังของผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ไร้อำนาจที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งกลไกสำคัญของรัฐที่มีบทบาทในระดับหนึ่งในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ซึ่งยังมีอาชีพอื่นอีกที่ทำหน้าที่นี้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เป็นต้น แต่ดูเหมือนรากเหง้าและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย อันเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเผด็จการ อำนาจนิยม ระบบทุนนิยม หรือวิถีพัฒนาที่มิได้เอาความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นที่ตั้ง วัฒนธรรมความเชื่อที่ล้าหลังจนก่อมายาคติผิดๆที่ไม่ศรัทธาคุณค่าความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียม เป็นผลให้เกิดความรุนแรงและสนับสนุนการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนจนฝังรากลึกมาถึงปัจจุบัน (จรัญ โฆษณานันท์, 2545:522-526) ดังจะกล่าวต่อจากนี้
4.สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
เป็นที่แน่นอนและทราบกันดีอยู่แล้วว่าสังคมไทยปัจจุบันเน้นความสำคัญของภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบตลาดได้ครอบงำเศรษฐกิจโลก และภายใต้ระบบตลาดเศรษฐกิจทุนนิยมดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจในระบบตลาด ภายใต้เงื่อนไขของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นโดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผลมาจากการพยายามก้าวไปสู่ความทันสมัย รัฐบาลได้ใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน เห็นได้จากการจัดการทรัพยากรในภาคอีสาน เช่น การประกาศเขตวนอุทยานกับที่ดินทำกินของชาวบ้าน การให้สัมปทานป่าแก่กลุ่มอิทธิพลภายนอกชุมชน ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์และการพัฒนาอุตสาหกรรม (เสน่ห์ จามริก, 2546:35-40)
ตัวอย่างหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ กรณีเขื่อนปากมูล ที่หลังจากการสร้างเขื่อนได้ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป ระบบนิเวศที่ลุ่มน้ำมูลก็ถูกเปลี่ยนแปลง เกิดวิกฤตในการทำมาหากิน ชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพไปใช้แรงงานที่อื่น จำนวนป่าลดน้อยลง ชาวบ้านจับปลาไม่ได้พอเพียงแก่การเลี้ยงชีพ ทั้งที่เมื่อก่อนระบบนิเวศนี้สมบูรณ์ ปลามีมากชาวบ้านจึงจับปลาขายและเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2546:154-164)
นอกจากนี้แล้วยังมีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆอีก เช่น การฆ่าตัดตอนปราบปรามยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ปัญหาการค้าประเวณี การก่อการร้าย และความยากจนเป็นต้นยังเป็นปัญหาของสังคมไทยจนปัจจุบัน
5.ข้อสรุปและเสนอแนะ
เราคงจะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นมีความสำคัญมากจึงอยากให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นประเด็นที่ควรมุ่งศึกษาทำความเข้าใจในวงกว้างมากขึ้น โดยอิงอยู่กับพื้นฐานของความชอบธรรม เพราะในโลกของเรายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ในทุกมุมมองของโลกและสิทธิมนุษยชนนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของคนทุกคนที่อยู่รวมกันในสังคม และยังเกี่ยวข้องกับ สังคม เศรษฐกิจและการเมือง เป็นพื้นฐานของหลักการที่มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยและพัฒนาสังคมให้มีความสงบสุขและเจริญ หากว่ามนุษย์รู้จักและเข้าใจยอมรับและเคารพในสิทธิมนุษยชนของกันและกัน
และกระทั่งปัจจุบันซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหาร ที่เกิดจากจากการรับรัฐบาลทักษิณ โดยการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ (คมช.) และการดำเนินนโยบายแข็งก้าวในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตและเสียหายทั้งฝ่ายรัฐ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้ก่อการร้าย สะท้อนปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เป็นที่น่าสังเกตว่า สังคมไทยของเรากำลังมุ่งไปสู่วิถีทางแห่งสันติภาพในสิทธิมนุษยชนหรือจะย้อนกลับไปสู่เผด็จการ อำนาจนิยม ความล้าหลัง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเราจะไปสู่วิถีทางแห่งประชาธิปไตยและสร้างความสำนึกความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนได้จริงหรือ ?